เชื่อว่าหลายๆ คนคงประสบปัญหาอย่างการที่แม้พยายามทำสิ่งใดก็ตามต่อให้ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ยังรู้สึกว่าสิ่งนั้นเกิดมาจากปัจจัยอื่นไม่ได้มาด้วยความสามารถของเรา หากคุณกำลังมีความคิดแบบนี้แสดงว่าคุณอาจเป็นคนหนึ่งที่ตกอยู่ในภาวะ Imposter Syndrome หรือ คิดว่าตัวเองไม่เก่ง แม้ว่าสิ่งที่คุณทำออกมาจะมาจากความสามารถของตัวเองก็ยังไม่สามารถคิดว่าตัวเองเก่งได้ วันนี้เรามีหนังสือที่จะพาคุณไปทำความรู้จักกับอาการดังกล่าวถึงสาเหตุและวิธีการรับมือว่าทำอย่างไรถึงปรับเปลี่ยนแนวคิดได้ รีวิวโดยเพจ รีวิวทุกอย่างที่อ่านออก ที่จะมาเล่าเนื้อหาความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ใน รีวิวหนังสือ ‘Imposter Syndrome ทำมากเเค่ไหนก็รู้สึกเก่งไม่พอ’
รีวิวหนังสือ “Imposter Syndrome” เมื่อตัวเรารู้สึกว่าทำมากแค่ไหนก็เก่งไม่พอ
‘โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง’ หรือ ‘Imposter Syndrome’ เป็นโรคที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงนี้ เเต่ด้วยความที่โรคนี้เป็นโรคที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย เลยไม่ได้มีบทความออกมาให้คนทั่วไปได้ศึกษามากนัก วันนี้รีวิวทุกอย่างที่อ่านออกเลยจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกันโรคนี้ให้มากขึ้น ผ่านหนังสือที่ชื่อว่า ‘Imposter Syndrome ทำมากเเค่ไหนก็รู้สึกเก่งไม่พอ’ กันค่ะ
ที่จริงเเล้ว ‘โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง’ ไม่ใช่โรคที่ถูกค้นพบขึ้นมาใหม่เมื่อไม่นานมานี้ ในต่างประเทศมีงานวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้มาตั้งเเต่ในช่วงปี 1970 เเต่ด้วยความที่โรคนี้ไม่ได้มีความรุนเเรงเเละสิ่งที่ผู้ที่เป็นโรคนี้ต้องเจอไม่ได้บ่งชี้ถึงความเจ็บป่วยทางจิต โรคนี้จึงไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่โรคทางจิตเวช เเละภาวะนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยทั่วไป โดยมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่ากว่า 70% ของประชากรจะต้องเคยเจอกับภาวะนี้อย่างน้อยช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต
ก่อนที่จะพูดถึงเนื้อหาส่วนอื่นเราอยากพาทุกคนมารู้จักกับลักษณะอาการโดยทั่วไปของคนที่เป็นโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งก่อนค่ะ ลักษณะความคิดของคนที่เป็นโรคนี้หลักๆ จะมีอยู่ 3 เเบบ ได้เเก่ ความเชื่อว่าคนภายนอกประเมินความสามารถของพวกเขาดีเกินไป, ความกลัวว่าจะถูกเปิดเผยว่าเป็นคนที่ไม่มีความสามารถเเละความเชื่อว่าความสำเร็จที่ได้มาเกิดจากโชคหรือปัจจัยภายนอกทั้งหมด
โดยสาเหตุที่ทำให้พวกเขามีความคิดในลักษณะนี้ก็เกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งที่เป็นปัจจัยภายในเเละปัจจัยภายนอก อย่างเช่น ค่านิยมของสังคม, พื้นฐานครอบครัว หรือเเม้เเต่การใช้โซเชียลมีเดียก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้เหมือนกัน ในที่นี้เราจะลองยกตัวอย่างให้ทุกคนฟังค่ะว่าโซเชียลมีเดียเชื่อมโยงกับโรคนี้ได้ยังไง
เป็นธรรมดาของคนทั่วไปเเละบุคคลที่มีชื่อเสียงในโลกออนไลน์ที่จะโพสต์เเต่ในด้านที่ประสบความสำเร็จหรือด้านที่มีความสุขของตัวเองลงในโซเชียลมีเดียส่วนตัว น้อยคนนักที่จะโพสต์ถึงเรื่องธรรมดาๆ หรือความผิดพลาดในชีวิตให้คนอื่นได้รับรู้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนส่วนใหญ่ที่เล่นโซเชียลมีเดียมักจะมองดูความพิเศษของคนอื่นๆ เเละนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของตน จนนำไปสู่ความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ
อีกเรื่องที่เราพึ่งเคยรู้จากหนังสือเล่มนี้ก็คือ โรคนี้สามารถเกิดได้กับคนหลายกลุ่มมากไม่ใช่เเค่กับคนวัยทำงานเท่านั้น โดยในคนเเต่ละกลุ่มก็จะมีปัจจัยที่มากระตุ้นให้เกิดโรคนี้เเตกต่างกันไป ซึ่งประเด็นที่ผู้เขียนหยิบยกมาเล่าก็เป็นที่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม อย่างเช่น ค่านิยมที่สังคมมีต่อเพศหญิงเเละเพศชายส่งผลให้เกิดโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งได้อย่างไร, ความกดดันที่จะต้องเป็นพ่อหรือเเม่ที่สมบูรณ์เเบบจนทำให้รู้สึกว่าทำดีเเค่ไหนก็ยังไม่พอ เเละทำไมคนในวันเรียนถึงมีเเนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากขึ้น
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้หลายคนอาจจะยังนึกไม่ออกว่าหนังสือเล่มนี้มันดียังไง เราเลยจะมาสรุปสิ่งที่เรามองว่าเป็นข้อดีหรือประโยชน์ที่ทุกคนจะได้รับหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้ให้ฟังกันค่ะ
1) ผู้เขียนสามารถนำเสนอให้เราเห็นข้อเเตกต่างได้อย่างชัดเจนว่าโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งที่เกิดกับคนเเต่ละกลุ่มที่ความเเตกต่างกันอย่างไร เรามองว่าข้อนี้เป็นจุดเเข็งของหนังสือเล่มนี้เลยค่ะ เพราะโดยส่วนตัวเราชอบการเชื่อมโยงถึงปัจจัยทางสังคมกับการเกิดโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งของผู้เขียนมากค่ะ หลายเรื่องเป็นเรื่องที่เรานึกไม่ถึงเลยว่ามันมีความเกี่ยวข้องกันมากขนาดนี้
อย่างเช่น ในเด็กที่โตมาในครอบครัวที่พี่น้องประสบความสำเร็จสูงก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งได้มากกว่า หรือ การเกิดโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งในกลุ่มพ่อเเม่สมัยใหม่จากการกดดันตัวเองว่าต้องเป็นพ่อเเม่ที่สมบูรณ์เเบบในทุกๆ ด้าน ซึ่งเเรงกดดันนี้จะส่งผลถึงลูกๆ ของพวกเขาด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ‘เเนวคิดการเลี้ยงลูกเเบบยัดเยียดให้เรียน’ ในพ่อเเม่บางกลุ่ม
2) นอกจากจะพูดถึงโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งเเล้ว หนังสือเล่มนี้ยังเชื่อมโยงให้เห็นอีกว่าโรคนี้จะนำไปสู่ภาวะอื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง อย่างเช่น ในผู้ชายที่เเต่งงานเเล้วเเละเป็นโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งบางคน เกิดความกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองจะไปชอบเพศเดียวกัน จนรู้สึกว่าตนเองเป็นพ่อหรือสามีที่ไม่ดีพอ นำไปสู่การมีเเนวโน้มที่จะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำประเภทคิดว่าตัวเองเป็นรักร่วมเพศ หรือ (Homosexual OCD)
3) ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นนักจิตวิทยาคลินิกที่มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาคนไข้ที่เป็นโรคนี้มาจำนวนมาก จึงทำให้ทุกการอธิบายเนื้อหามีการยกตัวอย่าง case study ประกอบอยู่เสมอ นอกจากนี้ข้อมูลส่วนใหญ่ก็จะมีงานวิจัยมารองรับเเละระบุเเหล่งอ้างอิงไว้ชัดเจนจึงทำให้หนังสือเล่มนี้ยิ่งดูน่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีก
4) มีการเเนบเเบบทดสอบมาให้เราประเมินตัวเองด้วยว่าเราเข้าข่ายเป็นโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งประเภทไหน เราว่ามันเป็นข้อดีเพราะการประเมินจากเเบบทดสอบจะเชื่อถือได้มากกว่าการคาดเดาเอาเองว่าตัวเองเป็นหรือไม่เป็นโรคนี้ เเละสำหรับผู้อ่านที่พบว่าตัวเองเป็นโรคนี้ก็จะมีเเบบฝึกหัดท้ายบทให้ทำ ซึ่งแบบฝึกหัดเหล่านี้จะช่วยปรับลดเเนวความคิดว่าตัวเองไม่เก่งของเเต่ละคนลงได้
โดยภาพรวมเราว่าหนังสือเล่มนี้เล่าประเด็นหลักๆที่คนทั่วไปควรที่จะรู้เกี่ยวกับโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งได้ค่อนข้างครบ พออ่านจบเรารู้สึกเลยว่าโรคนี้มันใกล้ตัวเรามากกว่าที่เราคิดไว้มาก จริงอยู่ที่อาการของโรคนี้ไม่ได้เป็นอันตรายเหมือนโรคทางจิตเวชอื่นๆ เเต่ถ้าเราปล่อยให้มันเป็นต่อไปเรื่อยๆ จนกระทบกับการดำรงชีวิต มันก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอื่นๆ ได้เหมือนกัน เราจึงอยากให้ทุกคนเริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้อย่างจริงจังเเละหันมาสำรวจตัวเองเพื่อที่จะได้หาทางเเก้ไขก่อนที่จะสายเกินไปค่ะ
Score Explanation
Writing Style: 8/10
เพราะมีเเนวการเขียนที่อ่านเเล้วเข้าใจง่าย ไม่ได้มีการใช้ศัพท์ทางการเเพทย์ที่เข้าใจยาก เนื้อหาที่นำเสนอก็น่าสนใจทำให้อ่านเเล้วไม่รู้สึกเบื่อ
Time worthiness: 8/10
เพราะมีการนำเสนอที่กระชับเเละตรงประเด็น
Content Usefulness: 9/10
เพราะโรคนี้เป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน หนังสือเล่มนี้จึงน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้อ่านทุกกลุ่ม อีกทั้งคำเเนะนำที่ให้มาก็สามารถนำไปใช้ได้จริง
ทั้งหมดคือรีวิว ‘Imposter Syndrome ทำมากเเค่ไหนก็รู้สึกเก่งไม่พอ’จากเพจ รีวิวทุกอย่างที่อ่านออก ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้นะคะ อ่านจบแล้วหลายๆ คนคงจะนึกถามตัวเองอย่างแน่นอนว่าเราอยู่ในสภาวะนี้รึเปล่า ถ้าใช่ก็อย่าลืมไปหาหนังสือมาอ่านกันจนจบเพื่อหาแนวทางรับมือต่อไปนะคะ และถ้าใครที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นหนักก็ขอแนะนำให้พบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาอย่างจริงจังดีกว่าเพื่อที่จะไม่ปล่อยให้ร้ายแรงจนมีอาการป่วยอื่นๆ ตามมาทีหลังค่ะ