บทความในวันนี้เราจะพานักอ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับ ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย ห้องสมุดที่ถูกเรียกว่าแหล่งรวมความรู้วิทยาการต่างๆ แห่งแรกและห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน(ห้องสมุดแห่งใหม่) นี่คือสถานที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในอารยธรรมของมนุษย์ในอดีตที่ยังคงส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน สถานที่ที่กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเรียนรู้และรวบรวมวิทยาการแห่งแรกของโลกจะมีประวัติและความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่น่าสนใจแค่ไหน วันนี้ Reeeed จะพาคุณไปรู้จักกันค่ะ
ประวัติความเป็นมาห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย
หากกล่าวโดยความจริงแล้วนั้นการรวบรวมบันทึกต่างๆ ไว้ในที่เดียวกันเป็นห้องสมุดนั้น เป็นวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนานในกรีซและตะวันออกโบราณ โดยการเก็บรักษาบันทึกนั้นปรากฎให้เห็นตั้งแต่อารยธรรมที่โบราณที่สุดอย่างสุเมเรียน หรือ 3,400 ปีก่อนคริสตกาลที่มีการเริ่มใช้ตัวอักษรและจดบันทึกแล้วในช่วงเวลาดังกล่าว และทางตะวันออกเองก็มีการพบว่าชาวฮิตไทต์และอัสซีเรียมีจดหมายเหตุที่ใช้บันทึกมากมายรวมเอาไว้เช่นกัน แต่สาเหตุที่ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียมีชื่อเสียงที่สุดนั้นเป็นเพราะนอกจากมีการรวบรวมม้วนกระดาษที่บันทึกไว้จำนวนมาก ยังได้มีการสนับสนุนด้านต่างๆ ให้กลายเป็นศูนย์กลางของความรู้และวิทยาการในยุคนั้นอย่างจริงจังอีกด้วย ทั้งยังมีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาให้ความรู้อย่างครบวงจร ให้กำเนิดผู้คนที่มีชื่อเสียงมากมายในเวลาต่อมา
ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียตั้งอยู่ในเมืองอเล็กซานเดรียประเทศอียิปต์เป็นหนึ่งในห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของโลกในยุคสมัยโบราณถูกสร้างขึ้นราว 283–246 ปีก่อนคริสตกาล สถานที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการศึกษา Mouseion ที่อุทิศตนเองให้กับเทพีแห่งศิลปะทั้งเก้า โดยผู้ที่บุกเบิกแนวคิดในการสร้างห้องสมุดแห่งนี้นั้นคือ Demetrius of Phalerum อดีตรัฐบุรุษชาวเอเธนส์ที่ถูกเนรเทศและมาศัยอยู่ ณ อเล็กซานเดรีย โดยเขาได้เสนอความคิดดังกล่าวแก่ กษัตริย์ปโตเลมีที่ 1 โซเตอร์ ด้วยต้องการความรู้และวิทยาการจากทั่วทุกสารทิศมาไว้ ณ สถานที่แห่งเดียวกัน ทั้งกษัตริย์ปโตเลมีเองก็มีความเห็นชอบและให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีสถานที่แห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นในที่สุด ทั้งยังรวมรวมม้วนกระดาษปาปิรุสที่บันทึกสิ่งต่างๆ เอาไว้กว่า 40,000 ถึง 400,000 ม้วน
ด้วยห้องสมุดดังกล่าวเป็นอีกเหตุผลให้ในยุคนั้นมีการยกย่องให้อเล็กซานเดรียว่าเป็นเมืองหลวงแห่งความรู้และการเรียนรู้ทั้งหลาย ทั้งยังเป็นเหตุให้นักวิชาการคนสำคัญและนักปราชญ์ที่มีอิทธิพลจากทั่วทุกสารทิศรวมตัวกัน ณ เมืองแห่งนี้ อาทิ Apollonius of Rhodes ผู้แต่งบทกวีมหากาพย์เรื่อง Argonautica , Eratosthenes of Cyrene ผู้คำนวณเส้นรอบวงของโลกได้อย่างแม่นยำในยุคนั้นโดยมีความคลาดเคลื่อนเพียงไม่กี่ร้อยกิโลเมตร , Aristophanes of Byzantium ผู้คิดค้นการออกเสียงของกรีกและเป็นคนแรกที่แบ่งข้อความบทกวีออกเป็นวรรค
ก่อนหน้านี้ความเชื่อส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันว่าห้องสมุดแห่งนี้เคยถูกเผาและถูกทำลายมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่จากหลักฐานในปัจจุบันพบว่าห้องสมุดมีการทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ตามการเวลา ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการกวาดเหล่าล้างปัญญาชนมากมายออกจากอเล็กซานเดรียในปี 145 ก่อนคริสตกาลช่วงรัชสมัยของปโตเลมีที่ 8 ก่อนที่จะเกิดเหตุไฟไหม้ห้องสมุดในสมัยของ จูเลียส ซีซาร์ โดยไม่ตั้งใจจากเหตุสงครามกลางเมืองใน 48 ปีก่อนคริสตกาล แต่ก็ไม่ได้ถูกบรรทึกไว้อย่างชัดเจนว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน
ในช่วงสมัยโรมันกล่าวได้ว่าเป็นเวลาที่ตกต่ำที่สุดของห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียเนื่องด้วยขาดงบประมาณและการสนับสนุนจากทางกษัตริย์ทำให้สภามีมติให้ปิดห้องสมุดลงในช่วงปี 260 ก่อนจะถูกทำลายลงในปี 391 เนื่องจากไม่ต้องการให้หลงเหลือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์อยู่ในเมืองแห่งนี่อีกต่อไป
การรื้อฟื้นห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย
แนวคิดในการฟื้นฟูห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียในยุคปัจจุบันได้รับการเสนอครั้งแรกในปี 1974 โดย Lotfy Dowidar จากมหาวิทยาลัยอเล็กซานเดรีย ทั้งยังได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลอียิปต์ในการเสนอเรื่องนี้ต่อยูเนสโกให้พิจารณาการสร้างห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ก่อนที่ได้รับการอนุมัติและสนับสนุนด้านการออกแบบจากยูเนสโกทั้งยังมีอีกหลายประเทศที่ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ในเวลาต่อมาเพื่อคืนชีพให้ห้องสมุดแห่งนี้อีกครั้ง
ปัจจุบันห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียกลายเป็นหนึ่งในศุนย์กลางการเรียนรู้และวัฒนธรรมสมัยใหม่ของอียิปต์ พร้อมๆ กับเป็นตัวแทนให้กับห้องสมุดในโบราณทำหน้าที่เป็นแหล่งให้ความรู้แก่ผู้คนมากมาย ทั้งยังหมายมั่นเป็นหนึ่งในศุนย์รวมความรู้ของตะวันออกกลางดั่งเช่นในอดีตอีกด้วย