การใช้ชีวิตในสังคมนั้นเราทุกคนส่วนมากต่างเลือกที่จะเก็บความรู้สึกไม่พอใจ ไม่โอเค ต่างๆ เอาไว้ในใจ อาจเพราะกลัวว่าเมื่อแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกไปสิ่งเหล่านั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาหรือกระทบกับความสัมพันธ์ผู้คนรอบข้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราจึงมักหลีกหนีความรู้สึกเหล่านั้นเก็บซ้อนเอาไว้ในใจปล่อยให้มันกัดกร่อนความรู้สึกและจิตใจไปทีละนิด แต่วันนี้เราได้หยิบหนังสือ “อย่าเก็บอารมณ์ไว้ให้ใจเจ็บปวด” มารีวิวให้นักอ่านทุกท่านได้รู้จัก หนังสือที่ต้องการบอกบางสิ่งที่เหมือนกับชื่อหนังสือนั้นคือ อย่าเก็บสิ่งเหล่านั้นไว้ในจิตใจจนมันทำร้ายคุณเลย
รีวิว อย่าเก็บอารมณ์ไว้ให้ใจเจ็บปวด
หนังสือ “อย่าเก็บอารมณ์ไว้ให้ใจเจ็บปวด” เล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่คนเรามักจะเรียนรู้ที่จะอดทนอดกลั้นกับสิ่งต่างๆ ปล่อยให้ระลอกคลื่นของอารมณ์ที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีผ่านเข้ามาและผ่านไปโดยไม่ลงมือทำหรือต่อต้านใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้ตัวเองดูเข้มแข็งเหมือนไม่รู้สึกอะไรแม้ในใจจะไม่โอเคเลยก็ตาม เลือกที่จะผลักไสอารมณ์หรือความรู้สึกแง่ลบออกไปเพราะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นน่าขยะแขยง แต่หนังสือเล่มนี้อยากให้คุณได้ซื่อตรงต่อตัวเอง ยอมรับความรู้สึกที่ไม่สบายใจ ความรู้สึกอ่อนแอ ได้ลองหยุดคิดทบทวนถึงความรู้สึกของตนเอง จัดระเบียบให้อารมณ์ความรู้สึกไม่ว่าคุณกำลังเผชิญกับอารมณ์แง่บวกหรือแง่ลบอยู่ก็ตาม
หนังสือได้กล่าวว่า “อารมณ์เป็นของขวัญที่สวยงามที่สุดในชีวิต” หากเราลองตระหนักดูก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริง การที่มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นไม่ได้มีเพียงแค่สมองที่ฉลาดกับสองมือที่สร้างสรรค์เท่านั้น หากเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มีกลไกและกระบวนการที่ซับซ้อนที่ไม่อาจหาความแน่นอนได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึกแย่ๆ ในบางครั้ง แต่นั้นก็เป็นสิ่งตอกย้ำถึงคุณค่าและความหมายของชีวิตเช่นกัน ตัวผู้เขียนบทความเคยอ่านเจอคำกล่าวในหนังสือเล่มหนึ่งว่า “เหตุผลที่เรายังเศร้า เสียใจ สิ้นหวัง ร้องไห้ นั้นเพราะเรายังมีความเป็นมนุษย์ เรายังมีชีวิต เราถึงรู้สึก” ซึ่งก็อาจจะจริง เพราะหากเราเป็นคนเย็นชาไร้อารมณ์ไม่สนใจโลก ความรู้สึกเหล่านั้นคงไม่ก่อตัวขึ้นมา
“คิดให้น้อยลง รู้สึกให้มากขึ้น” คือบทนำของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนหนังสือเองในตอนแรกก็มีความกลัวที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ออก ตัวเธอบอกว่าอยากจะลบมันทิ้งทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ ด้วยเนื้อหาภายในนั้นเป็นสิ่งที่เธอนำออกมาจากชีวิต ไม่แปลกที่คนเราจะเกิดความหวาดกลัวว่าคนอื่นจะมองเห็น “ความอ่อนแอ” ของตัวเอง แต่เธอกลับนึกถึงคำพูดของอาจารย์ที่เธอชื่นชม “การยอมให้ตัวเองอ่อนแอ คุณต้องยอมแสดงความอ่อนแอออกมาให้คนอื่นเห็นเช่นกัน” เธอจึงเลือกที่เขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อใครก็ตามสักคนที่ได้อ่านมันแล้วต้องพบเจอเรื่องราวแบบเดียวกับเธอจะสามารถหาทางรับมือกับความหลากหลายทางอารมณ์ไม่ว่าจะ ความรังเกียจ ความผิดหวัง ความเสียใจ ความโกรธ ความกลัว ความสุขและยินดี
เนื้อหาภายในนั้นผู้เขียนต้องการให้เราได้ลองฝึกอารมณ์ความรู้สึก นั้นเพราะหลายคนเติบโตมาด้วยการถูกสั่งห้ามไม่ให้รู้สึกอารมณ์บางอย่าง ทำให้สุดท้ายสิ่งเหล่านั้นแปรเปลี่ยนเป็นความด้านชา ด้วยกลไกในจิตใจที่คุณไม่ต้องการทำร้ายคนอื่นแต่กลไกดังกล่าวกลับมาทำร้ายตัวคุณเอง ผู้เขียนหวังว่าหนังสือของเธอจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ให้คุณได้ทำความเข้าใจอารมณ์เหล่านั้นที่ถูกสะกดไว้ภายในใจและพร้อมเผชิญหน้ากับความหลากหลายทางอารมณ์เหล่านั้นในที่สุด โดยเนื้อหาแบ่งเป็น 3 บทใหญ่ๆ
“การที่ไม่ต้องรู้สึกถึงความเจ็บปวดนั้นเป็นเป้าหมายของคนตาย”
ซูซาน เดวิด (Susan David)
บทที่ 1 รู้จักและเข้าใจอารมณ์
เป็นบทที่ให้เราเข้าใจธรรมชาติในด้านต่างๆ ของอารมณ์ ไม่ว่ากลไกที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันตนเอง หรือประสบการณ์ที่ผ่านมาส่งผลอย่างไรต่ออารมณ์บ้าง จุดน่าสนใจคือผู้เขียนได้อธิบายถึงอารมณ์นั้นเปรียบเสมือนเข็มทิศของชีวิต ในแต่ละวันชีวิตของเรานั้นถูกกำหนดโดยอารมณ์ว่าจะเดินไปในทิศทางไหนมีอะไรบ้างที่ต้องทำหรือเปลี่ยนแปลง เช่นการรู้สึกเบื่อหน่ายกับงานที่ทำอยู่จะทำให้เราไม่มีความกระตือรือร้นและจะส่งผลต่อไปยังความคิดที่ว่าเราอยากกลับไปเรียนต่อหรือเปลี่ยนงานดี อารมณ์จะเป็นผู้ส่งสารถึงสิ่งที่เราต้องการหรือไม่ต้องการในชีวิตอยู่เสมอ แต่แน่นอนว่าเราทุกคนไม่สามารถทำอย่างที่อารมณ์ต้องการได้เสมอ แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายนอกอื่นๆ เพื่อให้ชีวิตเราสามารถเดินทางต่อไปได้ตามเส้นทางที่ควรจะเป็น
บทที่ 2 สังเกตจิตใจ รู้สึกถึงอารมณ์
พาเราเดินเข้าไปในโลกของจิตใจที่มีความซับซ้อนยากหยั่งถึงโดยเฉพาะจิตใจที่เคยถูกทำร้ายหรือบาดเจ็บที่ต้องการเวลาในการเยียวยารักษา ยิ่งบาดแผลหรือเรื่องฝังใจนั้นนานเท่าไหร่ช่วงเวลาที่ใช้ก็ยิ่งนานขึ้นเท่านั้น สิ่งสำคัญคือห้ามพูดว่า “ไม่เป็นไร” แต่ต้องปล่อยตัวให้เข้าสู่จิตใจเข้าใจความเจ็บปวดที่หนักอึ้งเหล่านั้น เพราะการจะปล่อยว่างเราต้องยอมรับอารมณ์และความเจ็บปวดนั้นก่อนเป็นอันดับแรก ทั้งในบทนี้ยังพูดถึงเรื่องสามเหลี่ยมอารมณ์ที่อยากให้ทุกคนได้ลองทำความเข้าใจกันดู
บทที่ 3 เรียนรู้ที่จะอยู่กับอารมณ์และสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น
บทสุดท้ายนี้เป็นบทที่ผู้เขียนได้บอกแก่เราทุกคนว่าไม่ว่าใครต่างก็มีประสบการณ์ความเจ็บปวดทั้งสิ้น แม้แต่ตอนที่เธอกำลังเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาก็มีเรื่องโหดร้ายเกิดขึ้นไม่ไกลตัวเธอนักที่สร้างความเจ็บปวดให้ผู้คนมากมาย รอยร้าวในความสัมพันธ์ที่เกิดจากอารมณ์และความเจ็บปวดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกที่ แต่ความเจ็บปวดสามารถบรรเทาลงได้หากเกิดการรับฟัง พูดคุยกัน มีความเห็นอกเห็นใจกัน เพราะการแบ่งปันความเจ็บปวดกับใครสักคนหรือการที่มีใครสักคนรับฟังความเจ็บปวดของเราย่อมดีกว่าการต้องแบกรับคนเดียว และสิ่งสุดท้ายที่สำคัญเมื่อเราทำผิดต่อกันการเรียนรู้ที่จะให้อภัยก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้ความเจ็บปวดลดลงได้เช่นกัน
และทั้งหมดคือรีวิว อย่าเก็บอารมณ์ไว้ให้ใจเจ็บปวด หนังสือพัฒนาตนเองอีกเล่มที่ชวนให้คุณเข้าใจความรู้สึกแย่ๆ ที่ตัวเองต้องเผชิญ เรียนรู้ที่จะยอมรับความอ่อนแอ ความผิดหวัง เสียใจ เลิกเก็บซ่อนสิ่งเหล่านั้นแล้วเผชิญหน้ากับมันอย่างกล้าหาญค่ะ
ซื้อหนังสือ อย่าเก็บอารมณ์ไว้ให้ใจเจ็บปวด